ห้องนี้ Show Room สินค้าที่ทำมาจาก ป่านศรนายณ์ ซึ่งเรานำมาจาก
ร้าน Araya Shop ตลาดน้ำอัมพวา ต้นความคิด และผู้ผลิต สินค้า ใน Show Room แห่งนี้
มารู้จัก กับ ต้นป่านศรนารายณ์ กันนิสนึงนะค่ะ
ขอบคุณภาพและข้อมูลจากเวบ http://guru.sanook.com/encyclopedia/...B9%8C_(sisal)/
ป่านศรนารายณ์ (sisal) โดย นาย จินดา จันทร์อ่อน
ป่านศรนารายณ์มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่าอะกาเว ไซซาลานา (Agave sisalana Perr.) เป็นพืชที่อยู่ในตระกูลอะกาเวซีอี (Agaveceae) ใบป่านศรนารายณ์มีสีเขียว แตกจากลำต้นแผ่กว้างออกไปรอบโคนต้น ใบยาวประมาณ ๑.๒๐ เมตร ปลายใบเรียวเล็กจนถึงปลายสุดมีหนามแข็งแหลมอยู่ ๑ อัน ผิวนอกของใบมีขี้ผึ้งหรือไขคลุมอยู่ทั่วทำให้ไม่เปียกน้ำ การออกดอกของต้นป่านขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศและการตัดใบโดยปกติเมื่อป่านศรนารายณ์อายุ ๘ ปี จะออกดอก แต่แทบไม่พบเห็นเมล็ดพันธุ์ แต่เกิดเป็นต้นอ่อน (bulbil) จากก้านดอกย่อย ไม่ได้เกิดจากเมล็ด เมื่อโตเต็มที่ต้นอ่อนจะหลุดออกจากก้าน (ประมาณ ๔-๖ เดือน) ตกลงมาที่พื้นดินแล้วเจริญเติบโตต่อไปเอง ถ้าเราจะใช้ปลูก ต้องนำไปเพาะชำให้โตดีเสียก่อนจึงจะได้ผลดี ซึ่งใช้เวลาเพาะชำ ๖ เดือน หรือจนมีความสูงประมาณ ๓๐ เซนติเมตรเป็นอย่างน้อย หลังจากที่ต้นป่านออกดอกแล้วก็จะตาย โดยหาเมล็ดสำหรับสืบพันธุ์ได้ยาก
ป่านศรนารายณ์ เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ให้เส้นใยจากใบที่จัดอยู่ในประเภทพืชเส้นใยแข็งส่วนใหญ่จึงใช้ในการผลิตเชือกขนาดใหญ่ใช้ลากจูงเรือ และใช้ในวงการก่อสร้าง ใช้ทำที่ขัดหรือลูกบัฟ (buff) ขัดโลหะ เช่น ช้อนส้อมตลอดจนใช้ทอผ้ารองพรม พรม และงานหัตถกรรมต่าง ๆ ต้นป่านศรนารายณ์เมื่อยังเล็กจะมีลักษณะคล้ายต้นสับปะรด แต่เมื่อเจริญเติบโตจะมีขนาดใหญ่กว่าต้นสับปะรดมาก มีปลูกกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปเป็นไม้ประดับและรั้วบ้าน บางท้องถิ่นปลูกเพื่อใช้ประดิษฐ์สิ่งของในครอบครัว เช่น แส้ปัดยุง หมวกและกระเป๋าถือ เป็นต้น
พืชชนิดนี้มีความทนทานต่อสภาวะอากาศที่แห้งแล้ง ต้องการแสงแดดจัด สามารถเจริญเติบโตได้ในที่ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ต้องการปุ๋ยน้อย ต้องการการดูแลการเอาใจใส่มาก ในระยะเริ่มต้นปลูกที่ยังตั้งตัวไม่ได้เท่านั้น หลังจากอายุประมาณ ๒-๓ ปี ก็เจริญเติบโตเต็มที่สามารถตัดใบมาใช้ประโยชน์ได้ ในการปลูกครั้งหนึ่งนั้นต้นป่านศรนารายณ์จะมีอายุยืนนานสามารถตัดใบไปได้จนกว่ามันจะตาย ซึ่งมีระยะประมาณ ๘-๑๐ ปี จึงปลูกใหม่ โดยใช้หน่อ(sucker) ที่เกิดจากลำต้นใต้ดิน (ต้นแม่) ซึ่งนำไปใช้ปลูกต่อไปได้เช่นเดียวกับสับปะรด โดยใช้ระยะระหว่างแถว ประมาณ ๑-๒ เมตร และระหว่างต้น ๕๐-๘๐ เซนติเมตร นอกจากนั้นสามารถใช้ต้นอ่อนที่เกิดที่ช่อดอก ดังกล่าวไว้แล้ว
การตัดใบป่าน เป็นงานค่อนข้างยากต้องใช้แรงงานและความชำนาญ นิยมใช้มีดที่มีด้ามไม้กว้าง ๓ เซนติเมตร ยาว ๑๘ เซนติเมตร ตัดใบป่านจรดลำต้น แล้วตัดหนามแหลมที่ปลายยอด วิธีแยกเส้นใยที่ทำกันในประเทศไทยสมัยเริ่มแรกนั้น กระทำโดยวิธีแช่หมักใบป่านให้เน่าเปื่อยเสียก่อน แล้วจึงนำมาทุบให้แหลก แล้วสั่นหรือเขย่าให้เปลือกหลุด นำไปล้างน้ำให้สะอาด แล้วนำไปผึ่งแดดให้แห้ง ได้มีการพัฒนาแยกเส้นใยเสียใหม่ เรียกว่า วิธีขูดป่านสดซึ่งอาจใช้เครื่องหรือขูดด้วยมือก็ได้ ในการขูดด้วยมือโดยไม่ต้องอาศัยเครื่อง จะขูดได้ประมาณวันละ ๒-๓ กิโลกรัม โดยผ่าใบป่านตามยาวของใบออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ กว้างประมาณ ๑-๒ นิ้ว (๒.๕-๕.๐ เซนติเมตร) แล้วจึงนำไปดึงผ่านใบมีดที่ทำด้วยเหล็กหรือไม้ลวกที่มีความคม ๒ ใบ ที่วางชิดกันพอให้ส่วนหนาของใบป่านผ่านได้ ดึงใบป่านไปตามความยาวของใบผ่านใบมีดนี้หลาย ๆ ครั้ง จนกว่าเปลือกจะลอกหมด ก่อนนำไปทำเครื่องหัตถกรรม นำเส้นใยตากแดดให้แห้งประมาณ ๒ วัน อย่าให้ถูกแดดจัดเกินไป เพราะจะทำให้สีของเส้นใยซีดลง ย้อมสีและผึ่งลมให้แห้ง แยกป่านที่ขูดได้ ๕-๑๐ เส้น ฟั่นเป็นเกลียวหรือถักเป็นเปียจาก นั้นจึงถักเป็นกระเป๋า เย็บเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบต่าง ๆ
ปริมาณหรือน้ำหนักของเส้นใยที่จะได้จากป่านนั้น จากการทดลองของงานปอและพืชเส้นใย กองอุตสาหกรรมสิ่งทอ ปรากฏว่าน้ำหนักใบป่านสด ๑๐๐ กิโลกรัม จะให้เส้นใย ๒.๕-๓.๐ กิโลกรัม ใบป่านสด ๒๕๐ ใบ จะหนักประมาณ ๑๐๐ กิโลกรัม ในเนื้อที่ ๑ ไร่ กสิกรอาจผลิตเส้นใยป่านได้ ๖๐-๘๐ กิโลกรัม โดยขายได้กิโลกรัมละ ๑๐-๑๖ บาท ในกรณีใบสดขายตันละประมาณ ๒๐๐ บาท ใน ๑ ไร่ จะได้ใบป่านสดประมาณ ๕ ตันต่อไร่
ขณะนี้ จาก ต้นป่านศรนารายณ์ และการสร้างความรู้จากพืชชนิดนี้
ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากป่านศรนารายณ์ ซึ่งสวยงาม น่าใช้
ในรูปนี้เป็นเพียงตัวอย่าง เท่านั้น
เพื่อให้ เพื่อนๆ ได้เลือกชม และเลือกกันไปใช้ ผลิตภัณฑ์ของคนไทย ฝีมือระดับโลก
ในราคาที่ไม่แพง เป็นการช่วยให้พวกเขามีกำลังใจทำงานนี้
จะได้เป็นการสร้างงานให้กับคนในหมู่บ้าน
พวกเขาจะได้ทำงานอยู่กับบ้าน ไม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน จนต้องเอาชีวิตไปเสี่ยง
มีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้ ไม่เสี่ยงภัย ได้อยู่กับครอบครัว
เป็นชีวิตที่ช่างมีความสุขจริงๆ เลย นะคะ คิดงั้นไหม อ่ะ